วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556

นวัตกรรมการศึกษา " หุ่นยนต์ช่วยสอน "

            ในปัจจุบันมีการปรับปรุงและพัฒนาด้านต่างๆมากมาย  ซึ่งเป็นผลมาจากการศึกษาค้นคว้า  ทดลองประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ โดยอาศัยความคิด  ความรู้ทางวิทยาศาสตร์  และคิดสร้างสรรค์หรือกรรมวิธีใหม่ๆ ซึ่งต่างไปจากที่เคยปฏิบัติมาเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาในการปฏิบัติงานต่างๆ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงปรับปรุงวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น  สำหรับการศึกษาก็เช่นเดียวกันต้องมีการปรับปรุงพัฒนาการตามยุคสมัย  ซึ่งได้มีการนำนวัตกรรมต่างๆเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนการรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้  เช่น  คอมพิวเตอร์มัลติมิเดีย   คอมพิวเตอร์ช่วยสอน  บทเรียนแบบโปรแกรม  ชุดการสอน เป็นต้น  




              โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาประเทศ เพราะการศึกษาจะทำให้พลเมืองมีความรู้ความสามารถก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าแก่ตนเองและประเทศชาติได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง  ซึ่งปัจจุบันพบว่าในหลายพื้นที่กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนครู  จึงได้มีการคิดค้นวิธีการแก้ปัญหาโดยรัฐบาลของประเทศเกาหลีใต้เล็งเห็นปัญหาและได้แก้ปัญหานี้โดยสร้างหุ่นยนต์ช่วยสอนขึ้นมา



      

            รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ให้เงินสนับสนุนนักวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกรุงโซลเพื่อนำไปพัฒนาหุ่นยนต์อัจฉริยะเพื่อช่วยสอนภาษาอังกฤษแก่นักเรียนระดับประถม โดยหุ่นยนต์รูปไข่ทีมีล้อทำให้เคลื่อนที่ได้ ชื่อ Engkey นี้จะพูดภาษาอังกฤษเพื่อให้นักเรียนเปล่งเสียงตาม ทั้งยังสอนให้นักเรียนชั้นประถม 6 ร้องเพลงภาษาอังกฤษด้วย อย่างไรก็ตาม เสียงที่ออกมาจากหุ่นยนต์นี้ไม่ใช่ของหุ่นยนต์เอง แต่เป็นเสียงของครูสอนภาษาอังกฤษในฟิลิปปินส์ซึ่งเชื่อมต่อกับห้องเรียนทางระบบประชุมทางไกลหรือ teleconference โดยครูสอนภาษาในฟิลิปปินส์จะสามารถเห็นนักเรียนในชั้นทางจอภาพ แต่นักเรียนจะเห็นภาพครูผู้สอนที่เป็นสตรีผิวขาวทางจอ LCD บนหัวของหุ่นยนต์แทน


        หุ่นยนต์อัจฉริยะ Engkey นี้ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า perception technology ซึ่งช่วยให้สามารถเลียนพฤติกรรมของครูผู้เป็นมนุษย์ซึ่งให้เสียงจากอีกที่หนึ่งได้ เช่นเมื่อครูมนุษย์ยกแขนหรือหัวเราะหุ่นยนต์ก็จะยกแขนหรือหัวเราะตาม ผู้อำนวยการโครงการหุ่นยนต์อัจฉริยะบอกว่าเนื่องจากขณะนี้มีชาวเกาหลีใต้ต้องการเรียนภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก แต่ไม่สามารถหาผู้สอนที่มีคุณภาพจากต่างประเทศได้พอ การใช้หุ่นยนต์แบบนี้จึงจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนครูรวมทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ด้วย เพราะต้นทุนในการสร้างหุ่นยนต์ Engkey และจ้างครูสอนภาษาอังกฤษในฟิลิปปินส์ เพื่อสอนภาษาผ่านระบบประชุมทางไกลนี้จะตกเพียงปีละราว 600,000 บาทต่อปี หรือราวครึ่งหนึ่งของการจ้างครูจากต่างประเทศไปสอนนักเรียนในเกาหลีใต้        


              แต่อาจารย์ Yu Do-hyun ผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัย Kooknim ในเกาหลีใต้แย้งว่า การเรียนภาษาจากหุ่นยนต์จะทำให้นักเรียนขาดโอกาสการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนจริงที่เป็นมนุษย์ และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องสนทนาก็จะทำให้ประหม่าหรือขาดความมั่นใจได้ เพราะไม่เคยฝึกฝนเรื่องนี้กับคนจริงๆ มาก่อน

              อย่างไรก็ตามฉันคิดว่าแม้หุ่นยนต์ช่วยสอนจะมีข้อดีอยู่มากมายทั้ง ช่วยกระตุ้นความสนใจของนักเรียน  สร้างบรรกาศในการเรียนรู้  และไม่มีอารมโมโหเหมือนมนุษย์แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อยตามที่อาจารย์ Yu Do-hyun บอกคือจะทำให้นักเรียนขาดโอกาสการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนจริงที่เป็นมนุษย์ หรือขาดความมั่นใจเมื่ออยู่ในสถานการณ์จริง  หรือหากใช้หุ่นยนต์ช่วยสอนในการจัดการเรียนรู้เพียงอย่างเดียวเป็นระยะเวลานาน  อาจทำให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่าย  และขาดความสนใจในการเรียน  ดังนั้นในการนำหุ่นยนต์อัจฉริยะไปใช้ในการจัดการเรียนการรู้ควรมีครูหรือผู้เชี่ยวชาญดูแลในชั้นเรียนด้วย  และใช้วิธีการเรียนรู้ที่หลากหลายโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนรู้จะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการเรียนรู้
อ้างอิง
หุ่นยนต์ช่วยสอนเด็กนักเรียนเกาหลีใต้
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROMFpXTXdNVEl5TURjMU13PT0= 

วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศมีอิทธิพลต่อการศึกษาอย่างไร....?

                หากมองย้อนกลับไปดูพัฒนาการทางการศึกษาของประเทศไทยจะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเป็นอย่างมาก  สังเกตได้จากอุปกรณ์การเรียนของนักเรียนในปัจจุบันที่มีการใช้แท็บแล็ต  คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ทอล์คกิ้งดิก (Talking Dic)   ฯลฯ    รวมไปถึงสื่อที่ครูใช้ในการจัดการเรียนการสอนก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไป  มีการนำเทคโนโลยีต่างๆเข้าใช้ในการจัดการเรียนการสอน  เช่น  วีดิทัศน์ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน  เครื่องฉายภาพ  เป็นต้น  ทำให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นเนื่องจากมีการนำเสนอด้วยภาพ  ข้อความ  เสียง และภาพเคลื่อนไหว ซึ่งเอื้อต่อการเรียนรู้และเป็นการกระตุ้นความสนใจในการศึกษาของผู้เรียนทุกวัย 



             จึงต้องยอมรับว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทต่อการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์ และการสื่อสารโทรคมนาคม  ได้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาเนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศช่วยแก้ปัญหาการกระจายการศึกษาให้เข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อยู่ห่างไกล สามารถรับรู้ข่าวสารและวิชาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น ด้วยการสื่อสารทางไกลผ่านดาวเทียมเช่น  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้ใช้ระบบนี้ในการจัดการศึกษา  หรือเป็นเครื่องมือในการค้นคว้าหาความรู้   ทำให้ผู้เรียนมีอิสรภาพในการเรียน ไม่ต้องคอยครู อาจารย์ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลาที่ต้องการ




            จนอาจกล่าวได้ว่ายิ่งเทคโนโลยีมีการพัฒนามากเพียงใดการศึกษาก็มีโอกาสในการพัฒนามากยิ่งขึ้นซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ดี  แต่ในทางตรงกันข้ามเทคโนโลยีนั้นก็มีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อยเนื่องจากเทคโนโลยีนั้นมีราคาค่อนข้างสูง  หากนักเรียนที่ด้อยโอกาสหรือขาดแคลนอาจไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้  หรือหากเกิดการขัดข้องทางอิเล็กทรอนิกส์อาจทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่เป็นไปตามจุดประสงค์ที่ได้ตั้งเอาไว้   หรือในด้านของการการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของนักเรียน  และสิ่งที่จะลืมไม่ได้คือในเรื่องสุขภาพของผู้เรียนที่ใช้เทคโนโลยี  หากใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปอาจทำให้มีปัญหาทางด้านสายตาได้



              จากที่ได้กล่าวมาในข้างต้นจะเห็นได้ว่าสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศก็มีทั้งข้อดีและมีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย  ฉะนั้นในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดการศึกษานั้นจึงควรใช้อย่างระมัดระวังและปริมาณที่เหมาะสมพร้อมทั้งควรปลูกฝังให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึงข้อดี  ข้อเสืยและเลือกใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย